(1 Vote)

แนวทางวางแผนการทดสอบระบบเครือข่ายในองกรณ์

แนวทางวางแผนการทดสอบระบบเครือข่ายในองค์กร

               การทดสอบระบบเครือข่าย ถือเป็นบทบาทการทำงานที่สำคัญ ในการทดสอบความพร้อมและข้อบกพร่องจากการออกแบบระบบเครือข่าย รวมทั้ง Application ที่จะนำมาใช้ในระบบ สำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ การทดสอบระบบเครือข่าย ไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีความพร้อมในการรองรับ Application ใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้งาน เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับ จุดอ่อนและปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถวางแผนเกี่ยวกับบริหารขีดความสามารถของระบบเครือข่าย และสามารถพยากรณ์ความต้องการเกี่ยวกับการขยายขอบเขตของระบบเครือข่ายได้ในอนาคต

               ปัญหาเครือข่าย Down เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ในแต่ละปี องค์กรต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการที่ไม่สามารถใช้ข้อมูล เป็นจำนวนมาก ดังนั้น องค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วไป จะต้องบรรจุแผนการทดสอบระบบเครือข่าย โดยรวม ตลอดจน การทดสอบขณะที่กำลังจะนำเอา Application ใหม่มาใช้งาน อย่างไรก็ดี การทดสอบระบบเครือข่าย จำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผน และการวางแผน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนของการทดสอบ ระบบเครือข่าย

 

ภาพที่ 1 ตัวอย่าง Model การทดสอบระบบเครือข่ายภายใต้มาตรฐานเครื่องมือของ Fluke

เหตุใดการทดสอบระบบเครือข่ายจึงมีความสำคัญ

               การทดสอบระบบเครือข่าย ควรเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่มีการติดตั้งระบบเครือข่ายเป็นที่เรียบร้อย หรือมีการติดตั้ง application ใหม่ๆ ตลอดจน การทดสอบประจำปี ที่ควรกำหนดขึ้นเป็นแผนงาน การทดสอบระบบเครือข่าย จะช่วยให้ท่านได้ประโยชน์ดังนี้

  • สามารถทดสอบความพร้อมของระบบเครือข่าย
  • สามารถรู้จุดอ่อน ของระบบเครือข่าย เช่น ความสามารถในการรองรับปริมาณของ Load ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ
  • สามารถรู้จุดเสีย และปัญหาของอุปกรณ์เครือข่ายที่ซ้อนเร้นอยู่
  • สามารถรู้ประสิทธิภาพ รวมทั้งขีดความสามารถของระบบเครือข่าย
  • สามารถรู้ถึงจุดอ่อนในระบบรักษาความปลอดภัย
  • สามารถรู้ถึงความสามารถและความพร้อมที่จะรองรับ Application ใหม่ๆ
  • สามารถรู้ถึงปัญหาความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ต่างๆรวมทั้ง Application ที่ใช้
  • สามารถพยากรณ์ขีดความสามารถและวางแผนเกี่ยวกับการ Upgrade ระบบได้
  • สามารถล่วงรู้ถังปัญหา และคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นจริง

 

ภาพที่ 2 การทดสอบระบบจะช่วยให้ทราบถึงความจำเป็นต้องมีเส้นทาง backup บน WAN

ความจำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบระบบ

               มีคำถามอยู่มากมาย ที่ผู้ดูแลระบบอาจต้องถาม โดยเฉพาะหลังจากติดตั้งระบบเครือข่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น

  • เหตุใดเราจะต้องเสียเวลา และเงินทองไปกับการทดสอบระบบ?
  • การทดสอบระบบ ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้จำหน่ายอุปกรณ์แก่เราหรือ?
  • จะต้องมีการทดสอบมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะใช้งานระบบเครือข่าย?
  • ก่อนหน้านี้ 2 ปี มีการทดสอบระบบการเชื่อมต่อกับ WAN เหตุใดจะต้องมาทดสอบอีกครั้ง?

คำพูดที่หลุดออกมาจากผู้ดูแลระบบเครือข่ายที่ประสบการณ์สูง มีดังนี้ :

  • ระบบเครือข่ายที่มีความเสถียร มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งมีการให้บริการที่หลากหลาย เป็นผลมาจากวางแผนอย่างระมัดระวัง รวมทั้งการทดสอบ การปฏิบัติงาน บำรุงรักษาอย่างเป็นระบบ แม้ว่าผู้จำหน่ายระบบเครือข่ายแก่เรานั้น มีการทดสอบระบบมาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทดสอบระบบภายใต้การใช้งานขององค์กรได้จริง เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้
  • การทดสอบอย่างมีประสิทธิผล แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ในทำนองเดียวกัน การทดสอบที่ไม่มีประสิทธิผล อาจนำไปสู่ ความสูญเสียความมั่นใจ รวมทั้งอาจเกิดปัญหา Downtime รวมทั้งเรื่องของการสนับสนุน แนวทางทดสอบที่มีการวางแผนมาอย่างดี จะช่วยตรวจพบข้อบกพร่องเป็นจำนวนมาก ในช่วงระยะเวลาอันสั้น และด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ากัน
  • เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆบนเครือข่าย ก่อนที่จะใช้งาน Services ใหม่ๆ

เป็นเรื่องปกติ ที่ท่านอาจไม่ได้รับความเห็นชอบ ในเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จาก CEO, CFO ของท่าน หากท่านเหล่านี้ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานทางด้านเทคนิค โดยเฉพาะระบบเครือข่าย

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการที่เครือข่ายล่ม

               มีองค์กรธุรกิจมากมายที่ยังไม่มีความเข้าใจถึงผลกระทบจากปัญหาระบบเครือข่ายล่มต่อธุรกิจของเขา แต่การคำนวณหาค่าใช้จ่ายจากผลกระทบนี้ อาจเป็นเรื่องยากเนื่องจากจะต้องเข้าใจถึง การสูญเสีย ที่จับต้องได้และที่จับต้องไม่ได้ การสูญเสียแบบจับต้องได้ คือการสูญเสีย หรือความเสียหายที่สามารถเห็นได้ชัด เช่น การเสียค่าใช้จ่ายกับการกู้คืนข้อมูล การกู้คืนระบบ และค่าใช้จ่ายที่จะต้องทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนความสูญเสียที่ไม่สามารถจับต้องได้ คือปัญหาชื่อเสียงที่ต้องหม่นหมองไป การสูญเสียลูกค้า รวมทั้งการสูญเสียเวลาการทำงานของพนักงาน มีอยู่ไม่น้อยที่ความสูญเสียที่จับต้องไม่ได้นี้ เป็นการสูญเสียที่มีผลกระทบในระยะยาว มากกว่า การสูญเสียที่จับต้องได้

 

ภาพที่ 3 Software ที่ใช้ทดสอบระบบ

               จากการวิจัยของ Gartner หน่วยงานวิจัยเกี่ยวกับ IT และให้คำแนะนำที่มีชื่อเสียงได้ให้ข้อมูลว่า ความสูญเสียที่มากับปัญหาเครือข่ายล่ม ครอบคลุมไปถึง

  • การสูญเสียผลิตผลในทางธุรกิจ
  • การสูญเสียรายได้
  • การสูญเสียชื่อเสียง
  • การถดถอยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในทางการเงิน

ต่อไปนี้เป็นตาราง แสดงอัตราการสูญเสีย ที่มาจากปัญหาเครือข่ายล่ม โดยแบ่งตาม

อุตสาหกรรมประเภทต่างๆ

Industry Sector               Revenue/Hour                 Revenue Employee-Hour

Energy                                $2,817,846                         $569

Telecommunications       $2,066,245                         $186

Manufacturing                  $1,610,654                         $134

Financial Institution         $1,495,134                         $1,079

Insurance                            $1,202,444                         $370

Retail                                  $1,107,274                         $244

Transportation                   $668,586                            $107

Average                              $1,010,536                         $205

ตารางที่ 1 แสดงแสดงอัตราการสูญเสีย ที่มาจากปัญหาเครือข่ายล่ม

Availability                     % Downtime per Year Downtime per Month* Downtime per Week

90%                                     36.5 days                            72 hrs                                  16.8 hrs

95%                                     18.25 days                          36 hrs                                  8.4 hrs

98%                                     7.3 days                              14.4 hrs                               3.36 hrs

99%                                     3.65 days                            7.20 hrs                               1.68 hrs

99.5%                                  1.83 days                            3.6 hrs                                 50.4 min

99.8%                                  17.52 hrs                             86.23 min                           20.16 min

99.9% (three nines)          8.76 hrs                               43.2 min                             10.1 min

99.95%                                              4.38 hrs                               21.56 min                           5.04 min

99.99% (four nines)         52.6 min                             4.32 min                             1.01 min

99.999% (five nines)        5.26 min                             25.9 sec                               6.05 sec

99.9999% (six nines)       31.5 sec                               2.59 sec                               0.605 sec

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนของเวลาที่เครือข่ายล่ม เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์

* สำหรับการคำนวณแบบรายเดือน ให้คิดเป็น 30 วันต่อเดือน

              การทดสอบระบบตามปกติ จะช่วยให้ท่านทราบถึงความต้องการเกี่ยวกับความพร้อมของระบบ และการวางแผนการทดสอบ จะต้องให้ความระมัดระวังต่อปัญหาการเกิดชะงักงันของระบบเครือข่าย ซึ่งครอบคลุมต่อไปนี้

  • ปัญหาความล้มเหลวของระบบ Hardware
  • ปัญหาความล้มเหลวทางด้าน Software
  • ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย รวมทั้งการเดินสายสัญญาณ
  • ความล้มเหลวที่เกิดจากอุปกรณ์รับส่งข้อมูลข่าวสาร
  • การขาดแคลนขีดความสามารถในการทำงาน
  • ความผิดพลาดจากน้ำมือมนุษย์
  • ปัญหาจากสิ่งอำนวยความสะดวก

ปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจาก สิ่งอำนวยความสะดวก เช่นปัญหาระบบไฟฟ้า หรือปัญหาจาก

น้ำ ปัญหาเกี่ยวกับ HVAC ปัญหาเกี่ยวกับระบบระบายอากาศ รวมทั้งปัญหาสภาพแวดล้อมต่างๆ

               เมื่อท่านได้ รู้ว่าจะทดสอบความพร้อมของระบบ ได้อย่างไร ท่านก็สามารถสร้างแผนการทดสอบที่เหมาะสมขึ้นได้  ขอบเขตของการทดสอบอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตรวจวัด ในรูปแบบความพร้อมที่มนุษย์ตระหนักได้ หรือความพร้อมที่เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตระหนักได้ (เช่น เครื่องทดสอบบอกว่า ระบบมีปัญหาระบบน่าจะไม่พร้อมเนื่องจากตัวเลขที่วัดได้เกินค่า Threshold ขณะที่มนุษย์เห็นว่าใช้ความรู้สึกจากการใช้งานเป็นหลัก)

               เพื่อให้เกิดความกระจ่างในจุดนี้ ลองนึกภาพดูว่า ผู้ร่วมงานของท่านได้ดำเนินการตรวจเช็ค Web Mail เขาได้ Click ไปที่ Web Browser และอีก 15 วินาทีผ่านไป เขาอดทนไม่ไหว จำต้อง Click ที่ปุ่ม Refresh ใน Browser ถึงจุดนี้ Web Mail ได้ปรากฏต่อหน้าและพร้อมที่จะอ่าน ซึ่งในมุมมองของเขา เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน คือการ Refresh ที่ Browser และทุกอย่างดูเป็นปกติ

               จากมุมมองของระบบ อาจมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นนับร้อยในช่วงเวลา 15 วินาที มีความเป็นไปได้ที่ Traffic ของเข้าได้ถูก Redirect ไปสู่ Data Center ที่ต่างกันในโลกใบนี้ จากการที่เขา ทำการ Refresh ที่ Browser แต่หากท่านทดสอบการรับรู้ ท่านอาจคิดว่า 15 วินาทีเป็นเรื่องปกติที่สามารถยอมรับได้ ไม่ถือว่าเป็นปัญหาเรื่องของความพร้อมแต่อย่างใด เนื่องจากยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่สำหรับมุมมองของการบริหารจัดการระบบเครือข่าย กลับมองว่า 15 วินาทีแห่งการรอคอยนั้น ถือว่าเป็นความไม่พร้อมของการให้บริการ

ภาพที่ 4 ปัญหาประสิทธิภาพการสื่อสารผ่าน WAN

               เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานของ Application ภายใต้ระบบเครือข่ายที่ไม่เสถียร การที่ต้องรอเวลา 15 วินาที จนรอไม่ไหวต้องกดปุ่ม Refresh อาจมีสาเหตุจาก Application Server เกิดหยุดชะงักงันชั่วขณะหนึ่ง และอาจสูญเสียการสื่อสารกับ Back End Database Server ประมาณ 10 วินาที หรือต้องวิ่งไปที่ Backup Server เนื่องจาก Server หลักไม่พร้อม หรือมีความเป็นไปได้ ที่เกิดการสลับการทำงานไปมาระหว่าง Database Server หลักกับ Database Server สำรอง เนื่องจากเกิดปัญหาความไม่เสถียรของระบบเครือข่าย และลักษณะนี้ได้กระตุ้นความรู้สึกของมนุษย์ที่ว่า เรื่องนี้เป็นปกติ เนื่องจากเงื่อนไขการใช้งานลักษณะเช่นนี้ ยังไม่เกินข้อตกลงใน SLA (Service Level Agreement)

               เมื่อมีการกำหนดแผนงานและจุดประสงค์ของการทดสอบขึ้น

 

ภาพที่ 5 แสดงค่า Delay จาก video conference

 

ภาพที่ 6 การทดสอบค่า Delay และThroughput สำหรับ WLAN

               เมื่อมีการกำหนดแผนงานการทดสอบและประเด็นที่แสดงถึงความสำเร็จ ยังมีเรื่องจำเป็นที่ต้องพิจารณา Application ที่สำคัญขององค์กร ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 15 วินาที แบบเดียวกับที่เคยได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ว่า ในมุมมองของผู้ใช้งาน Web ยังไม่ค่อยรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจมาก แต่ในมุมมองของผู้ที่ต้องใช้งาน Video Conference แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่กล่าวไว้เช่นนี้ ก็คือมุมมองของผู้ใช้ Application ที่ต่างกัน อาจมีความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น แผนงานการทดสอบ จะต้องถูกกำหนดให้สอดคล้องกับ Application ที่มีปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของระบบเครือข่ายมากที่สุด  

มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ท่านไม่สามารถมีความพร้อมระดับ 99.999% หากท่านมีลักษณะของเครือข่ายดังนี้ 

  • จุดตายของระบบ (Single point of failure ) หากจุดใดจุดหนึ่งเกิดล้มเหลวจะส่งผลให้เกิดล่มทั้งระบบ
  • ความเป็นไปได้สูงที่ระบบทดแทนอาจล้มเหลว (หรือไม่มีระบบทดแทนบนเครือข่าย)
  • ความเป็นไปได้สูงที่มีความล้มเหลวซ้ำซ้อนเกิดขึ้น
  • ใช้เวลามากเกินไปในการจัดเส้นทางเดินของข้อมูลข่าวสาร
  • การหยุดชะงักเนื่องจากต้องมีการ Upgrade Hardware และ Software
  • ใช้เวลานานเกินไปกับการ Reboot อุปกรณ์เครือข่าย
  • ไม่เคยมีการทดสอบว่าอุปกรณ์หรือเครื่องที่ใช้เป็นอะไหล่ทำงานได้ตามปกติหรือไม่
  • ใช้เวลาในการตรวจซ่อมมากเนื่องจากขาดข้อมูลและกระบวนการซ่อม
  • เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย
  • เกิดความผิดพลาดขนาดใหญ่ในโดเมน
  • รูปแบบการตอบสนองที่มีขั้นตอนมากเกินไป หรือขาดกระบวนการตอบสนองที่ดีพอ
  • ไม่มีระบบบริหารจัดการ IT Service ที่ดีมากเพียงพอ

 

ภาพที่ 7 ปัญหาการเชื่อมต่อในระบบ Redundancy

การกำหนดแนวทางการทดสอบอย่างมีระบบ

               ถึงแม้ว่าการทดสอบระบบเครือข่ายจะได้รับประโยชน์อย่างที่เราทราบกันดี แต่ที่ผ่านมามากมายหลายแห่ง การวางแผนทดสอบระบบเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ใช้วิธีการทดสอบที่สอดคล้องกับการทำงานที่แท้จริง โดยไม่ได้เน้นทดสอบความเค้นแก่อุปกรณ์เครือข่าย ดังเช่นที่ Application ได้กระทำต่อเครือข่าย ซึ่งการทดสอบทั่วไปเป็นการทดสอบทั่วไป แบบง่าย และขาดการวางแผนที่ดี ผลลัพธ์ที่ออกมา เป็นข้อมูลน้อยนิดที่ไม่คุ้มเวลาที่เสียไป รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ตามมา สาเหตุส่วนใหญ่คือ การขาดประสบการณ์ และแนวทางทดสอบ รวมทั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับทรัพยากรที่ใช้ทดสอบ  

แนวทางมาตรฐานการทดสอบระบบทั่วไป ประกอบด้วยแนวทาง 5 ประการดังนี้

ขั้นตอน 1: การประเมิน (Assessment)

ในขั้นตอนนี้  ท่านอาจต้องเข้าร่วมโดยตรงกับลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ เพื่อกำหนดจุดประสงค์และเป้าหมายจากการทดสอบ หลังจากที่ทุกฝ่ายมีความเข้าในจุดประสงค์ของการทดสอบแล้ว ท่านจะสามารถเลือกแนวทางหรือวิธีการทดสอบที่เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือลักษณะของระบบเครือข่าย โดยก่อนที่จะมีการทดสอบ จำเป็นจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และการคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ ค่าที่ยอมรับได้จากการทดสอบ การจัดลำดับความสำคัญ และการกำหนดกรอบเวลา

อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้มีการทดสอบระบบเครือข่าย?

               มีปัจจัยมากมายหลายประการที่เป็นกระตุ้นให้ต้องเริ่มทดสอบระบบเครือข่าย ตัวอย่างเช่น

  • มีการติดตั้ง Application ใหม่เกิดขึ้น
  • มีการให้บริการใหม่ๆบนเครือข่าย
  • ระบบเครือข่ายทำงานช้าลง การตอบสนองต่อการร้องขอข้อมูลช้ากว่าแต่ก่อนมาก
  • ใช้เวลามากขึ้นกับการดึงข้อมูลหรือ Upload ข้อมูลไปยัง Server
  • มีการเชื่อมต่อเครือข่ายเพิ่มขึ้น
  • มีการติดตั้งหรือเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าไปในเครือข่าย
  • มีการแจ้งถึงปัญหา Server ล่มหลายต่อหลายครั้ง
  • เครือข่ายไม่เสถียร หรือเครือข่ายล่มบ่อย
  • มีการตรวจพบปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดความปลอดภัยของระบบเครือข่าย
  • ต้องการทดสอบดูว่า อุปกรณ์ระบบเครือข่าย มีการทำงานเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่

ขั้นตอน#2 การวางแผนทดสอบ

               ในขั้นตอนนี้ท่านจะต้องประสานงานร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (หรือมีส่วนได้ส่วนเสียของงาน) เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอนการทำงาน Software และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ทีมงานที่มีประสบการณ์ ข้อมูลการทดสอบ แผนผังการเชื่อมต่อเครือข่าย การจัดเตรียมรายงาน รูปแบบของรายงาน ข้อมูลหรือผลลัพธ์จากการทดสอบที่ยอมรับได้ ตลอดจนการกำหนดเวลา และสถานที่ทดสอบ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องมีแผนสำรองหากในขณะทดสอบ เกิดเหตุไม่คาดฝัน รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงที่การทดสอบอาจไม่ประสบผลสำเร็จ และที่สำคัญคือแนวทางการทดสอบ ซึ่งมีอยู่หลายแบบดังนี้

  • Baseline Testing : เป็นการทดสอบ ตรวจวัด และหาประสิทธิภาพของระบบเครือข่ายภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบ Real Time การทดสอบแบบนี้ ระบบเครือข่ายจะต้องมีความพร้อมทั้งการเชื่อมต่อทางกายภาพ มีการใช้งานเครือข่ายเกิดขึ้นจริง ตลอดจนมีการใช้งานโปรโตคอลต่างๆบนเครือข่าย เพื่อแสดงปริมาณการใช้งานเครือข่ายขั้นสูงสุด รวมทั้งค่าเฉลี่ยในการทำงานของเครือข่าย เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์ความเร็ว และความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายที่รวดเร็ว รวมทั้งวิเคราะห์หาช่องโหว่ภายในเครือข่าย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อการปรับปรุง และยกระดับเครือข่ายในอนาคต                                              

          ในเฟสนี้ ท่านจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างบนเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบ Hardware ระบบ Software รวมทั้งขีดความสามารถของสิ่งต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งความคาดหวังเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ความเสถียรในการทำงาน ความน่าเชื่อถือ

 

ภาพที่ 8 การทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของ Application บนเครือข่าย

  • Feature Testing :  เป็นการทดสอบดูว่า อุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ สามารถทำงานเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่?
  • การทดสอบเพื่อหาผลกระทบต่อระบบอื่นๆของเครือข่าย : การทดสอบเช่นนี้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะทราบว่า การเกิดขัดข้องที่จุดใดจุดหนึ่งของเครือข่าย จะส่งผลกระทบในเชิงแคบและเชิงกว้างอย่างไร เช่นการเกิด Down ของเส้นทางหนึ่ง จะส่งผลต่อการเพิ่ม Load ของเส้นทางอื่นอย่างไรบ้าง โดยมีการวัดค่าปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งภาระการทำงาน (Load) ของอุปกรณ์เครือข่ายอื่นๆ
  • Performance Test : การทดสอบประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการขยาย : จุดประสงค์ก็เพื่อวัดประสิทธิภาพ ความเร็วในการถ่ายเทข้อมูล ความเร็วในการตอบสนองคิดเป็นมิลลิวินาที ทั้งในสภาพที่ทำงานเบาและทำงานหนัก
  • Capacity test : จุดประสงค์ก็เพื่อทดสอบความพร้อมของระบบเครือข่าย ในอันที่จะต้องรับภาระของ Traffic ที่เกิดขึ้น โดยตรวจสอบดูเส้นทางการสื่อสารหลักบนเครือข่าย มีการวัดปริมาณของ การจราจรบนเส้นทางหลักเหล่านี้ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สามารถวางแผนการขยับขยายในอนาคต
  • การทดสอบการทำงานของระบบปฏิบัติการ : การทดสอบเช่นนี้ มักเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ จุดประสงค์ก็เพื่อทดสอบ ความคล่องตัวในการใช้งาน ขีดความสามารถของระบบเครือข่ายที่จะรองรับระบบปฏิบัติการนี้ ตลอดจนช่องโหว่เกี่ยวกับความปลอดภัย รวมทั้งความซับซ้อนในการทำงาน และประสิทธิภาพ
  • การทดสอบเพื่อตรวจสอบความสามารถในการรับ Load : การทดสอบเช่นนี้ ก็เพื่อจะรู้ว่า Application ใด หรือสถานะของการใช้งานแบบใด ที่จะสร้าง Load มากน้อยเพียงใดแก่เครือข่าย เช่นปริมาณการเข้าไปใช้งานของผู้ใช้งาน 60% จะสร้าง Load แก่ระบบเครือข่ายหรือ Server ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์

ภาพที่ 9 การทดสอบความสามารถในการรับภาระของเครือข่าย

 

  • การทดสอบเพื่อการโยกย้าย : ถือเป็นการทดสอบที่ท้าทายและยากที่สุดแบบนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อเตรียมการโยกย้าย ผู้ใช้งานทั้งหมด รวมทั้ง Application ตลอดจน Services ที่มีอยู่ไปยังระบบเครือข่ายแห่งใหม่ โดยไม่ทำให้การบริการที่มีอยู่เดิม เกิดปัญหาหยุดชะงัก ดังนั้น การวางแผนที่จะทดสอบแบบนี้จำเป็นต้องมีแนวทางต่อไปนี้
    • จัดสร้าง Network backbone Topologies ที่เป็นทั้งของเก่าและของใหม่ขึ้นมา
    • ดำเนินการทำ Baseline Test โดยใช้ลักษณะการไหลของ Traffic ซึ่งเป็นที่ทราบกัน จากเครือข่ายเก่าที่มีอยู่และเครือข่ายใหม่
    • ดำเนินการเชื่อมต่อทางกายภาพ และตรรกะเข้ากับ network backbone ใหม่
    • ดำเนินการทดสอบจุดเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายใหม่และเครือข่ายเก่า เพื่อหาข้อบกพร่อง
  • Fail Over Test :  จุดประสงค์เพื่อทดสอบความพร้อมในการทำงานของระบบทดแทน เช่นระบบจ่ายไฟเลี้ยงอุปกรณ์ ระบบเชื่อมต่อที่มีเส้นทางสำรอง ระบบ RAID เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่า ระบบเหล่านี้สามารถทำงานได้ หากเกิดปัญหาที่จำเป็นต้องใช้บริการ
  • Throttle Test : เป็นการทดสอบ Application ภายใต้ bandwidth ต่างๆ จุดประสงค์เพื่อดูว่า ภายใต้สภาวะ bandwidth ต่างๆเหล่านี้ ทำให้เป็นภาระแก่ CPU หรือหน่วยความจำอย่างไร
  • การทดสอบความพร้อมของเครือข่ายที่จะใช้งาน : การทดสอบเช่นนี้ มักใช้กับระบบเครือข่ายเพิ่งติดตั้งเสร็จ และต้องการดูว่าขาดตกบกพร่องส่วนไหน? มีความพร้อมกี่เปอร์เซ็นต์ เราสามารถแบ่งการทดสอบต่างๆเหล่านี้ออกเป็นส่วนย่อยดังนี้
    • ทดสอบอุปกรณ์ ( เช่น Hardware/Software ระบบจ่ายไฟ Syslog และการตรวจสอบความผิดพลาด)
    • การทดสอบวงจรเชื่อมต่อของระบบ เพื่อตรวจหาค่า Throughput ค่า Delay และความผิดพลาดต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
    • การทดสอบ Routing (การทดสอบการประชิดกันของการเชื่อมต่อระหว่างเราเตอร์ ความเสถียรของการเชื่อมต่อ)
    • ทดสอบระบบ Traffic เป็นการทดสอบปริมาณการไหลของ traffic ระหว่างเครือข่ายหรือระหว่างอุปกรณ์เครือข่าย
    • การทดสอบ Network Services : การทดสอบ Multicast ทดสอบการทำงานของ QoS และ WAN Acceleration
    • การทดสอบความปลอดภัยและบริหารจัดการเครือข่าย

ภาพที่ 10 Failover test

ขั้นตอน #3 การจัดตั้ง

               ในขั้นตอนนี้ การเชื่อมต่อเครือข่ายของเครื่องทดสอบมีความพร้อมแล้ว ให้ Load Software และเตรียมติดตั้ง Software ให้พร้อมที่จะทดสอบ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์เครือข่ายและ Server ได้รับการเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง เช่น การติดตั้ง SNMP บนอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ นอกจากนี้ท่านยังต้องกำหนดลำดับความสำคัญของการทดสอบ เพื่อให้ได้ความแม่นยำมากที่สุด

ขั้นตอน # 4 ดำเนินการทดสอบ

               เป็นเฟสที่มีกิจกรรมการทำงานมากที่สุด และเข้มข้นที่สุด ในเฟสนี้ท่านจะต้องดำเนินการตามแผนงานด้วยความระมัดระวัง และเก็บผลการทดสอบให้มากที่สุด และความแม่นยำมากที่สุด การทดสอบในขั้นตอนนี้ จำเป็นต้องใช้ Teamwork มากที่สุด

ขั้นตอน # 5 ผลลัพธ์

               เป็นขั้นตอนที่มีการรวบรวมผลลัพธ์เพื่อจัดทำเป็นรายงาน โดยจัดทำรายงานในรูปแบบเอกสารหรือ Electronics เพื่อใช้วิเคราะห์ต่อไป

 

ภาพที่ 11 การใช้ iPerf เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเครือข่าย

ขอบข่ายของการทดสอบ 

               มีคำถามอยู่ 2 ข้อที่ท่านอาจได้รับจากผู้ใช้บริการเครือข่าย เมื่อมีการกล่าวถึงแนวคิดการทดสอบระบบเครือข่าย ได้แก่

  • ใช้เวลาในการทดสอบนานสักเพียงใด?
  • ใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด?
  • ขณะทดสอบจะส่งผลต่อการทำงานของเขามากน้อยเพียงใด?

ในบางครั้งมันเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดขอบเขตของการทดสอบระบบ หากท่านไม่เข้าใจข้อมูลทางเทคนิค ด้วยเหตุผลนี้เองท่านจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ชำนาญการทางเทคนิค ในระหว่างที่กำลังกำหนดขอบเขตของการทดสอบ และท่านควรสละเวลาทบทวนกับผู้ที่ออกแบบระบบเครือข่าย เพื่อที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของการออกแบบเครือข่ายในลักษณะที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถประมาณการณ์ว่า จะต้องใช้เครื่องมือ งบประมาณและกำลังคนมากน้อยเพียงใด   

ขั้นตอน 1.  แยกสิ่งที่ท่านจะต้องทดสอบให้เสร็จสิ้น 

               ท่านจะต้องเข้าใจเหตุผลของการทดสอบ และจะต้องกำหนดชนิดหรือองค์ประกอบของระบบเครือข่ายที่จะทดสอบ รวมทั้งประเภทของการทดสอบ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ท่านจะต้อง มีความชัดเจนต่อภารกิจของการทดสอบ เช่น

  • เพื่อต้องการพิสูจน์ การทำงานของระบบเครือข่ายเป็นไปตาม จุดประสงค์ของการออกแบบหรือไม่? เช่นทรัพยากร (CPU และหน่วยความจำ) ของ Server มีความพร้อมที่จะรับมือ Application ตัวใหม่ หรือเส้นทางการเชื่อมต่อภายในเครือข่าย มีความเหมาะสมที่จะใช้ Application อย่างเช่น Voice Over IP ได้อย่างมั่นใจหรือไม่?  

ขั้นตอน 2. จะต้องรู้ให้ได้ว่า ใครบ้างที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเกี่ยวข้องกับการทดสอบนี้ 

               คำว่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในที่นี้หมายถึง กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนกให้บริการหรือดูแลระบบไอทีโดยตรง รวมทั้งผู้ที่กำหนดให้มีการทดสอบระบบ รวมทั้งผู้ที่เป็นหัวหน้าดูแลระบบไอที โดยเฉพาะดูแลระบบเครือข่าย หรือ IT Manager นอกจากนี้ยังประกอบด้วยบุคคลจากแผนกต่างๆที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ระบบไอที ตลอดจน ผู้ที่ออกแบบวางระบบเครือข่าย นักพัฒนา Application เป็นต้น จุดประสงค์ก็เพื่อหารือ เกี่ยวกับข้อตกลงในเรื่องผลการทดสอบ วิธีการทดสอบ การจัดทำรายงาน จุดที่ต้องทดสอบ ช่วงเวลา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ เครื่องมือที่ใช้ รวมทั้งงบประมาณท่านจะต้องนำเอาความเห็น และข้อตกลงมาเป็นอินพุทสำหรับการทดสอบด้วย นอกจากนี้ ท่านจะต้องกำหนดให้มีบุคลากรมาจัดการทดสอบ เพื่อให้การทดสอบดำเนินไปอย่างถูกต้องและเสร็จสิ้น โดยท่านอาจใช้ หลักการออกแบบองค์กร ภายใต้ RACI ( Responsible, Accountable, Consulted, Informed) Model

  • Responsible : หมายถึงบุคลากรที่รับผิดชอบให้งานเสร็จสิ้น
  • Accountable : หมายถึงบุคลากรที่จะต้องเป็นเจ้าของงาน และได้รับรายงานหากงานประสบกับปัญหา ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และดำเนินการจัดการให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบให้จัดการให้เสร็จสิ้น บทบาทในที่นี้คือ Project Managers
  • Consulted : เป็นผู้ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการทำงาน
  • Informed: ทำหน้าที่รายงาน ผลของการทดสอบ ตลอดทั้งกระบวนการทำงาน

ขั้นตอน 3. อะไรคือสิ่งที่บ่งบอกว่า ได้เสร็จสิ้นจากการทดสอบแล้ว และการทดสอบประสบความสำเร็จ ดังนั้นท่านจะต้องนิยามความสำเร็จ และกำหนดผลการทดสอบที่ทุกฝ่ายยอมรับ

               เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่า ผลลัพธ์ที่จะออกมาหลังการทดสอบ ควรมี่ค่าเท่าใด จึงจะถือได้ว่า เข้าเกณฑ์มาตรฐาน หรือเป็นที่น่าพึงพอใจ มิเช่นนั้น การออกจากการทดสอบเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ตัวอย่างต่อไปนี้ คือประเด็นสำคัญจากการทดสอบแบบต่างๆที่แสดงว่า ผลการทดสอบผ่าน

การทดสอบหาจุดบกพร่องจากการออกแบบเครือข่าย

               ประเด็นที่แสดงว่าการทดสอบผ่านได้แก่

  • ทุกส่วนของเครือข่ายที่วางแผนทดสอบ ได้ผ่านการทดสอบเรียบร้อยครบถ้วน
  • การออกแบบเครือข่ายเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า และตรงตามที่กำหนดไว้ตาม ความต้องการของผู้ออกแบบเครือข่าย
  • ตรวจไม่พบ การทำงานที่ผิดปกติขั้นรุนแรง และข้อบกพร่องใดๆ

ประเด็นสำคัญที่แสดงว่า การทดสอบไม่ผ่านได้แก่

  • ตรวจพบอาการเสียหรือการทำงานบกพร่องขั้นรุนแรง เช่นระบบล่ม หรือขีดความสามารถในการทำงานหลัก ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้

ขั้นตอน 4.  คำนวณหรือประมาณการณ์ว่าจะต้องใช้ทรัพยากร หรือเครื่องมือ มากน้อยเพียงใดเพื่อให้การทดสอบดำเนินไปได้ด้วยดี 

ขั้นตอน 5.  พิสูจน์ทราบความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้วิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจทำให้การทดสอบไม่ประสบผลสำเร็จ 

ขั้นตอน 6. กำหนดกรอบเวลาของการทดสอบ 

 

ภาพที่ 12 แสดงจุดทดสอบต่างๆบนเครือข่าย

ตัวอย่างจุดทดสอบบนเครือข่าย

  1. ตรวจสอบอุปกรณ์เครือข่าย Switch/Router ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพของเครือข่าย
  • ตรวจสอบปริมาณการใช้งานของ CPU โดยให้ตรวจสอบดูจำนวนของเปอร์เซ็นต์ที่ถูกใช้ตลอดเวลายาวนาน 5 นาทีขึ้นไป การดูเช่นนี้จะช่วยให้สามารถทราบข้อเท็จจริงว่า เหตุที่ประสิทธิภาพลดลง เป็นสามารถมาจากปัญหาปริมาณใช้งานของ CPU สูงเกินหรือไม่ โดยทั่วไปกำหนดว่าไม่เกิน 80% แต่สำหรับ Cisco กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 75%

 

ภาพที่ 13 แสดงการใช้งาน CPU บน Linux

 ภาพที่ 14 แสดงหน้าจอจากคำสั่ง sh processes cpu

                               

  • ตรวจสอบปริมาณใช้งานหน่วยความจำคงเหลือของ อุปกรณ์ ซึ่งโดยทั่วไปกำหนดไว้ว่าไม่ควรใช้เกิน 80%
  • ตรวจสอบปริมาณการใช้งาน Backplane โดย backplane เป็นระบบบัสภายในตัว Switch ซึ่งบรรดาPort ทั้งหลายใช้เป็นเส้นทางเดินไปมาหาสู่กันภายใน มาตรฐานทั่วไประบุไว้ว่าไม่ควรเกิน 80% หากเกินกว่านี้ อาจเกิดปัญหาคอขวดภายในตัว Switch ส่งผลทำให้ทำงานช้าลงได้ มี Software หลายตัวที่สามารถทดสอบปริมาณการใช้งาน backplane ได้

 

ภาพที่ 15 แสดง Backplane ของ Switch

  

ภาพที่ 16 ตัวอย่างการทดสอบ backplane ของ switch รุ่น 6500 ของ Cisco

  • ตรวจสอบปริมาณ Load บน Uplink Port : หากปริมาณของ Uplink Port สูงเกินกว่า 80% ขึ้นไป ติดต่อกันยาวนานกว่า 5 นาที ก็เป็นสิ่งเตือนใจว่า กำลังเกิดปัญหาคอขวดที่ Uplink ของ Switch และส่งผลให้การเข้าถึงเครือข่ายและ Server ของผู้ใช้งานลดลงอย่างแน่นอน
  • ตรวจสอบค่า Response Time ซึ่งหมายถึงเวลาที่ใช้ไปกับการตอบสนองต่อการร้องขอข้อมูลจาก Client ซึ่งเรารู้จักกันดีในคำว่า Delay หรือค่าหน่วงเวลา มีหน่วยเป็น ms หรือมิลลิวินาที ค่า response Time ปกติของอุปกรณ์บนเครือข่าย ไม่ควรเกิน 1 ms ในสภาพการทำงานปกติ และหากมีการใช้งานหนักก็ไม่ควรเกิน 4 ms ในกรณีที่มีค่าหน่วงเวลาสูงมาก เช่นเป็นหลักร้อยขึ้นไป เป็นการบ่งบอกถึงปัญหาของอุปกรณ์
  • ตรวจสอบปริมาณการเกิด Buffer Misses : Buffer Misses เป็นปรากฏการณ์ที่อุปกรณ์ระบบเครือข่ายเช่น Switch หรือ Router มีปัญหาเกี่ยวกับ Buffer ไม่เพียงพอ ทำให้ Packet หรือ frame ไม่สามารถใช้งาน Buffer บน Switch ด้วยเหตุหลายประการ เช่นปัญหาการเกิด Error ของ Buffer หรือ Buffer มีไม่เพียงพอ เป็นต้น
  • ตรวจสอบปัญหา Buffer Error : Buffer Error เป็นปัญหาเกี่ยวกับความผิดพลาดในการทำงานของ Buffers บน Switch โดยมีสาเหตุได้หลายประการเช่นกัน เช่น ความผิดพลาดในการทำงานของหน่วยความจำ รวมทั้งปัญหาการทำงานของระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์ Switch  
  1. ตรวจสอบอุปกรณ์เครือข่ายที่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดปัญหารุนแรงในอนาคต
  • ตรวจสอบการเกิด Restart หรือ Reboot ของอุปกรณ์ Switch /Router บนเครือข่าย : สาเหตุที่ทำให้เกิดการ Restart มีมากมายสาเหตุ ประการแรก เป็นปัญหาระบบจ่ายไฟภายในอุปกรณ์ (Switching Power Supply) ที่ทำงานผิดพลาด รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการทำงานผิดพลาดของระบบ Software ภายใน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจาก ปัญหาของแผงวงจรหลัก (Processor Board) ที่ควบคุมการทำงานของ Switch
    • รูปแบบการตรวจสอบมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลที่ได้บันทึกไว้จากโปรแกรมเฝ้าดูการทำงานของเครือข่าย หรือ Syslog อีกวิธีหนึ่งคือการทำการทดสอบ Stress Test ซึ่งคือการสร้าง Load ขึ้นมากมายบนตัว Switch ซึ่งวิธีการเช่นนี้ อาจทำให้ Switch ที่กำลังมีปัญหาเกิด Restart ขึ้นได้
    • การตรวจพบ Restart จะช่วยให้รู้ปัญหาอาการเจ็บป่วยภายใน เหมือนคนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือป่วยภายใน เมื่อใดที่ทำงานหนัก ก็จะแสดงอาการป่วยออกมา ซึ่งข้อมูลนี้ จะสามารถนำไปประกอบการพิจารณา เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ต่อไปในอนาคต
    • ตรวจสอบ Interface Reset เป็นการตรวจสอบการทำงานผิดปกติของ Interface โดยที่ Interface ดังกล่าว อาจเป็น Ethernet Port ของ Switch หรือ Router หรือ Serial Interface ของ Router รวมทั้ง Interface อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอุปกรณ์เครือข่าย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหา Buffer รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการทำงานที่ผิดพลาดของระบบ Software รวมทั้งปัญหาที่ตัว Interface เอง แนวทางการทดสอบใช้หลักการเดียวกันกับ การตรวจสอบ อุปกรณ์ที่เกิดปัญหา Restart เอง
  1. ตรวจสอบปริมาณ Traffic และปัญหา Bandwidth ซึ่งอาจทำให้เกิดคอขวด
  • ตรวจสอบปริมาณการใช้งาน และ Traffic บนเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่าง Core Switch กับ Switch ที่ใช้เชื่อมต่อกับ Server : จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการทราบปริมาณของ Traffic ในขณะที่มีการใช้งานสูงสุด โดยเฉพาะมีผู้เข้ามาใช้งาน Server เป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลที่ตรวจวัดได้ จะช่วยให้เราสามารถรู้ถึงขีดความสามารถหรือความพร้อมของเส้นทางที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้ใช้งานกับ Server รวมทั้งสามารถพยากรณ์ความต้องการของ Bandwidth สำหรับเส้นทางดังกล่าว
  • ตรวจสอบปริมาณการใช้งาน บนเส้นทางระหว่าง Server ทุกตัวกับ Switch  เช่นเดียวกับ หัวข้อที่แล้วมาคือ ต้องการทราบถึงข้อจำกัดของเส้นทางระหว่าง Server กับ Switch และเพื่อหลีกปัญหาคอขวดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ท่านจะต้อง ตรวจสอบในช่วงการใช้งานสูงสุด เพื่อดูว่า ปริมาณการใช้งานบนเส้นทางนี้ สูงเกินกว่า 80% ตลอดเวลาหรือไม่
  • ตรวจสอบปริมาณ Traffic ของ Interface ที่เชื่อมต่อกับ WAN ไม่ว่าท่านจะใช้ Fiber Optic หรือการเชื่อมต่อผ่าน Serial Interface ปริมาณการใช้งานสูงสุด เป็นตัวบอกแนวโน้มของความต้องการ bandwidth เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยทั่วไป Cisco ได้กำหนดไว้ว่า ปริมาณของ Traffic ในส่วนที่เชื่อมต่อกับ WAN ไม่ควรอิ่มตัวที่ 70% ตลอดเวลา

ตัวอย่างเครื่องมือทาง Software ที่ใช้เพื่อทดสอบและเฝ้าดูการทำงานของระบบเครือข่าย

               Software ที่ใช้ทดสอบระบบเครือข่ายมีมากมาย แต่ในฉบับนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะ Software เพียงบางรายการเท่านั้น

Passmark

               Passmark Advanced Network test (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบประสิทธิภาพ) ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถทดสอบการถ่ายเทข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองบนเครือข่าย โดยจะต้องกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ทำหน้าที่เป็น Server และรอคอยการติดต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็น Client และมีการขนถ่ายข้อมูลระหว่างที่มีการทดสอบ

               Passmark สามารถทำงานบนเครือข่ายใดๆก็ตามที่ทำงานภายใต้ TCP/IP รวมทั้งเครือข่าย Ethernet ตลอดจน Dial Up Modem ADSL ตลอดจน Cable Modem และ LAN/WAN รวมทั้ง ระบบ WiFi โดยเป็น Software ที่ใช้ทรัพยากรอย่างเช่น CPU time น้อยมาก อีกทั้งยังสามารถทำงานบนเครือข่ายความเร็วระดับ Gigabit ได้อีกด้วย

               ผู้ใช้งานมีขีดความสามารถในการเปลี่ยนขอบเขตการทดสอบได้ ดังนี้

  • กำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ใดๆก็ตาม ทำหน้าที่เป็น Server และมีหมายเลขPort ที่สามารถตั้งค่าเพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อทำงานร่วมกับ Firewall
  • สามารถกำหนดขนาดของข้อมูลที่จะใช้เพื่อการถ่ายเทข้อมูล ในแต่ละครั้ง และเป็นไปได้ที่ท่านสามารถเลือกขนาดของข้อมูลที่แตกต่างกัน เพื่อการทดสอบในแต่ละแบบ
  • สามารถกำหนดห้วงเวลาของการทดสอบ

ภาพที่ 17 แสดงหน้าจอการตั้งค่าของ Passmark

 

ภาพที่ 18 แสดงหน้าจอผลการทดสอบจาก Passmark

                             

โปรแกรม Capsa Enterprise

               Capsa Enterprise เป้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อทดสอบ และตรวจสอบระบบเครือข่ายที่มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน ถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับระบบเครือข่ายขนาดเล็กไปจนถึงระดับ Enterprise โดยเป็นโปรแกรมที่สามารถเฝ้าดูการทำงานของระบบเครือข่าย อีกทั้งสามารถนำมาใช้เพื่อ Troubleshooting ทั้งที่เป็นเครือข่ายแบบมีสาย และแบบไร้สาย ซึ่งรองรับ 802.11/a/b/g/n ไม่ว่า ท่านจะเป็นผู้บริหารจัดการระบบเครือข่ายที่ต้องพิสูจน์ ตรวจสอบ วิเคราะห์ปัญหา และเพื่อค้นหาสาเหตุปัญหาการทำงานของระบบเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว Capsa Enterprise จึงเป็นเครื่องมือบริหารจัดการเครือข่าย ที่จะต้องมีไว้ใช้งาน

ประสิทธิภาพหลักของ Capsa Enterprise

  • สามารถดักจับ Packet ในสถานะเวลาจริง (Real Time) และสามารถจัดเก็บข้อมูลที่ส่งถ่ายกันบนเครือข่าย ทั้งที่เป็นเครือข่ายแบบมีสาย หรือแบบไร้สาย
  • พิสูจน์ทราบและวิเคราะห์โปรโตคอลของเครือข่ายกว่า 500 แบบ รวมทั้งโปรโตคอลของเครือข่ายตลอดจนโปรโตคอลของ Application
  • สามารถตรวจสอบปริมาณการใช้งาน bandwidth และสามารถดักจับ Packet และถอดออกมาดูการทำงานของโปรโตคอลภายใน
  • มี Dashboard ที่จะช่วยให้ท่านสามารถแสดงดูสถิติการทำงานของเครือข่าย ในรูปแบบเรียบง่าย ทำให้สามารถเข้าใจการทำงานของเครือข่าย
  • สามารถ Monitor ดูและชี้จุดที่เป็นปัญหาของเครือข่าย ได้ภายในเวลาเสี้ยวของวินาที และสามารถบอกที่มาของการเกิดปัญหาได้
  • สามารถเฝ้าดู และบันทึก Traffic ที่เกิดจาก Internet e-mail และ Instant Messaging และช่วยในการพิสูจน์ทราบเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดระบบความปลอดภัย
  • มีขีดความสามารถที่จะ Map Traffic ต่างๆ เช่น IP Address และ MAC Address ของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องบนเครือข่าย
  • สามารถแสดงผังการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆบนเครือข่าย  

ภาพที่ 19 แสดงหน้าจอการทำงานของ Colasoft Capsa Enterprise

 

               การทดสอบระบบเครือข่าย ถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้ดูแลระบบเครือข่าย การทดสอบระบบเครือข่าย สามารถทำได้หลังจากการติดตั้ง เครือข่ายใหม่ๆ หรือมีการติดตั้ง Application ตลอดจนการอัพเกรดเครือข่ายใหม่ เพื่อเป็นการพิสูจน์แสดงว่า เครือข่ายมีความพร้อมเพียงใด และมีปัญหาการทำงานหรือไม่ เมื่อมีการติดตั้ง Application ใหม่ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถประมาณการณ์ขีดความสามารถของเครือข่าย

Additional Info

  • event date: 04:00 AM /10TH SEPT /LOREM IPSUM
  • Descrption: Proin gravida nibh vel velit auctor aliqProin gravida nibh vel velit
Read 16743 times Last modified on วันศุกร์, 21 เมษายน 2560 08:02

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.